ระบบการเมืองการปกครอง

1. ระบบการเมืองการปกครอง

การเมืองการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยในปัจจุบัน

    การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.. 2475 โดย คณะราษฎร ซึ่งนำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา  นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่สุดในการเมืองการปกครองของไทย เพราะเป็นการเปลี่ยนจากระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบการปกครองโดยรัฐธรรมนูญมีเป้าหมายจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  เป็นหลักในการปกครอง

images

      เมื่อคณะราษฎรทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้สำเร็จแล้วก็มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว .. 2475 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.. 2475 ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรก แม้จะเป็นกฎหมายที่ใช้ชั่วคราวก็ตาม และหลักจากนั้นประเทศไทยก็ปกครองโดยมีรัฐธรรมนูญเป็นหลักมาโดยตลอด แม้จะมีการยุบเลิกรัฐธรรมนูญบ้างก็เป็นการชั่วครั้งชั่วคราว ในที่สุดก็จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นมาทดแทนเสมอไป คงกล่าวได้ว่า การปกครองของไทยนั้นพยายามที่จะยึดหลักการปกครองโดยกฎหมาย  คือ ให้มีบทบัญญัติ  กฎเกณฑ์ กติกาที่แน่นอนเป็นแนวทางในการปกครอง
     ประเทศไทยมีการใช้รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครอง  จนกระทั่งถึงฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2534 รวมแล้ว14ฉบับทุกฉบับจะประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขขึ้น แม้บทบัญญัติของธรรมนูญแต่ละฉบับจะเป็นประชาธิปไตยไม่สมบูรณ์ตามหลักสากลเช่นในทุกฉบับจะต้องมีสมาชิกรัฐสภาประเภทแต่งตั้งเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยร่วมกันสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งอยู่เสมอ รัฐสภาบางสมัยมีสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด  เป็นต้น ก็เป็นเพราะเหตุผลและความจำเป็นบางประการตามสถานการณ์ในขณะนั้น
การปกครองแบบประชาธิปไตยของไทย

       ตามที่กล่าวมาแล้วว่า รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับประกาศเจตนารมณ์ไว้ชัดเจนว่าต้องการให้ประเทศไทยมีการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ซึ่งอาจวิเคราะห์แยกแยะหลักการสำคัญๆ ของการปกครองแบบประชาธิปไตยของไทยได้ดังนี้

    1. อำนาจอธิปไตยและการใช้อำนาจอธิปไตย รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับ  กำหนดอำนาจอธิปไตยซึ่งถือเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง ให้มีการแบ่งแยกการใช้ออกเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ  หรืออำนาจในการออกกฎหมาย  อำนาจบริหาร หรืออำนาจในการนำกฎหมายไปบังคับใช้  และบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนและอำนาจตุลาการ หรืออำนาจในการตัดสินคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย เมื่อมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้น  องค์กรที่ใช้อำนาจทั้ง 3 ส่วนนี้ คือ รัฐสภา เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ  รัฐบาล หรือคณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร และ ศาล เป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการ โดยใช้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์การกำหนดให้มีการแยกการใช้อำนาจอธิปไตยออกเป็น 3 ส่วน และให้มีองค์กร 3 ฝ่าย รับผิดชอบไปองค์กรแต่ละส่วนนี้  เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ที่ไม่ต้องการให้มีการรวมอำนาจแต่ต้องการให้มีการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน  เพราะถ้าให้องค์กรใดเป็นผู้ใช้อำนาจมากกว่าหนึ่งส่วนแล้วอาจเป็นช่องทางให้เกิดการใช้อำนาจแบบเผด็จการได้  เช่น ถ้าให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร  คณะรัฐมนตรีก็อาจจะออกกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน  และนำกฎหมายนั้นไปบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว  การแยกอำนาจนั้นเป็นหลักประกันให้มีการค้านอำนาจซึ่งกันและกัน และป้องกันการใช้อำนาจเผด็จการ

2_jpg

      2. รูปของรัฐ  ประเทศไทยจัดว่าเป็นรัฐเดี่ยว  รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับกำหนดไว้ว่าประเทศไทยเป็นอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้  ศูนย์อำนาจทางการเมืองและการปกครองมาจากแหล่งเดียวกับประชาชนทั้งหมดอยู่ภายใต้เอกรัฐซึ่งจะต้องปฏิบัติตามอำนาจหนึ่งอำนาจเดียว  พร้อมทั้งอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมายเดียวกันการใช้อำนาจอธิปไตยทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งประเทศการปกครองภายในประเทศแม้จะมีการแบ่งอำนาจการปกครองไปตามเขตการปกครอง เช่น จังหวัด  อำเภอ ก็เป็นเพียงการแบ่งอำนาจตามลักษณะการปกครองส่วนภูมิภาค เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในส่วนกลางและความสะดวกของประชาชนในการรับบริการจากรัฐอำนาจที่แท้จริงยังคงอยู่ที่รัฐบาลในส่วนกลางหน่วยงานในภูมิภาคเป็นเพียงผู้รับเอาไปปฏิบัติเท่านั้น

    3. ประมุขแห่งรัฐ  รัฐธรรมนูญและธรรมนูญการปกครองทุกฉบับกำหนดรูปแบบการปกครองไว้ว่าเป็น แบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และ กำหนดไว้อย่างชัดแจ้ง เทิดทูนพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันสูงสุด  ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ รัฐธรรมนูญกำหนดว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ จึงมีกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญโดยปกติรัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชนโดยใช้อำนาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา  อำนาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอำนาจตุลาการผ่านทางศาล การกำหนดเช่นนี้ หมายความว่าอำนาจต่างๆ จะใช้ในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ซึ่งในความเป็นจริงอำนาจเหล่านี้มีองค์กรเป็นผู้ใช้ ฉะนั้นการที่บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการผ่านทางองค์กรต่างๆ 

      พระราชอำนาจที่ส่งผลกระทบต่อการเมืองการปกครองอย่างแท้จริง คือ พระราชอำนาจในการยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ทรงไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการเห็นชอบของรัฐสภามาแล้ว  และนายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้  ก็อาจใช้พระราชอำนาจยับยั้งเสียก็ได้ ซึ่งรัฐสภาจะต้องนำร่างพระราชบัญญัติที่ถูกยับยั้งนั้นไปพิจารณาใหม่ แต่ในทางปฏิบัติไม่ปรากฏว่า พระมหากษัตริย์ทรงใช้พระราชอำนาจนี้

       4. สิทธิเสรีภาพและหน้าที่ของประชาชน  รัฐธรรมนูญได้กำหนดสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยไว้อย่างกว้างขวาง สิทธิ  และเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นี้เป็นไปตามแนวทางประชาธิปไตย คือ มีการระบุสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานต่างๆ ไว้ครบครัน เช่น เสรีภาพในการแสดงออกในการชุมนุมโดยสงบ  และปราศจากอาวุธในการสมาคมหรือรวมกลุ่ม เป็นต้น รวมทั้งมีหลักประกัน ในเรื่องสิทธิต่างๆ คือ การละเมิดสิทธิจะกระทำมิได้  เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญมีข้อจำกัดในเรื่องสิทธิและเสรีภาพ คือ จะต้องไม่ให้เป็นปฏิปักษ์ต่อชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์ และรัฐธรรมนูญ  เป็นต้น ส่วนหน้าที่ของชนชาวไทยทุกคนตามรัฐธรรมนูญ  มีดังนี้

 1.บุคคลมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่ง ชาติ  ศาสนา  พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญนี้

2.บุคคลมีหน้าที่ที่จะใช้สิทธิในการเลือกตั้งโดยสุจริต

3.บุคคลมีหน้าที่ป้องกันประเทศ

4.บุคคลมีหน้าที่รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ

6.บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ

7.บุคคลมีหน้าที่ช่วยเหลือราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ

8.บุคคลมีหน้าที่รับการศึกษาอบรมตามที่กฎหมายบัญญัติ

9.บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์และป้องกันศิลปและวัฒนธรรมของชาติ

10.บุคคลมีหน้าที่รักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่กฎหมายบัญญัติ

       5. การปกครองแบบรัฐสภา  รัฐธรรมนูฐกำหนดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา  คือ ให้มีรัฐสภาเป็นหลักในการปกครอง  ซึ่งนอกจากทำหน้าที่พิจารณาบัญญัติกฎหมาย และเป็นตัวแทนแสดงเจตนารมณ์แทนประชาชน แล้ว ยังเป็นสถาบันที่มีบทบาทในการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี และควบคุมการบริหารงานของรัฐบาล

    5.1 องค์ประกอบของรัฐสภา รัฐสภาไทยเคยมีใช้ทั้งระบบสภาเดียวและระบบ 2 สภา แต่รัฐธรรมนูญส่วนใหญ่รวมทั้งฉบับปัจจุบันมักใช้ระบบ 2 สภา คือ มีวุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร  โดยมีลักษณะและหน้าที่ดังต่อไปนี้

   5.1.1. วุฒิสภา  สมาชิกประกอบด้วยบุคคลที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีซึ่งเท่ากับให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้เลือกสรร วุฒิสภาทำหน้าที่เป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิ คอยกลั่นกรองร่างพระราชบัญญัติที่ผ่านการเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว  และร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาและตัดสินปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ เช่น การสถาปนาพระมหากษัตริย์ การประกาศสงคราม เป็นต้น จำนวนของวุฒิสมาชิกขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญกำหนดแต่ส่วนใหญ่มักกำหนดเป็นสัดส่วน และน้อยกว่าจำนวน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร  รัฐธรรมนูญ พ.. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม พ.. 2538 กำหนดให้มี 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วาระในการดำรงตำแหน่งของวุฒิสมาชิก คือ 4 ปีอย่างไรก็ตามที่มาของวุฒิสมาชิกอาจได้มาโดยวิธีการอื่นใดนอกเหนือจากนี้ก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ

   5.1.2. สภาผู้แทนราษฎร  สมาชิกมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน รัฐธรรมนูญ พ.. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.. 2538 กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งจะมีวาระในการดำรงตำแหน่ง4 ปี เว้นแต่จะมีการยุบสภาก่อนครบวาระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือ ส.. เป็นตัวแทนของประชาชนในการใช้อำนาจนิติบัญญัติ วุฒิสมาชิกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย แม้ว่าฝ่ายแรกจะมาจากการแต่งตั้ง  และฝ่ายหลังมาจากการเลือกตั้ง แต่การใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้นเมื่อพิจารณาจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแล้วจะเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรมีมากกว่า เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติแต่วุฒิสมาชิกไม่มี  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีทั้งคณะหรือรายบุคคล

     5.2 หน้าที่ของรัฐสภา รัฐสภาเป็นสถาบันตัวแทนแสดงเจตนารมณ์แทนประชาชน มีหน้าที่สำคัญ 2ประการ คือ

    5.2.1. การบัญญัติกฎหมาย ผู้มีสิทธิเสนอร่างกฎหมายหรือร่างพระราชบัญญัติต่อรัฐสภา คือ คณะรัฐมนตรีหรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (..) แต่การเสนอโดยคณะรัฐมนตรีจะทำได้ง่ายกว่า ดังตัวอย่างรัฐธรรมนูญ พ.. 2534 กำหนดว่า ในกรณีที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้เสนอจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากพรรคการเมืองที่ผู้เสนอสังกัดอยู่ และมี ส.. พรรคเดียวกันลงชื่อร่วมสนับสนุน อีกอย่างน้อย20 คน การพิจารณาจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ สภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้พิจารณาก่อน หากเห็นชอบให้เสนอต่อวุฒิสภาให้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง  หากวุฒิสภาให้ความเห็นชอบด้วย ถือว่าผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ถ้าวุฒิสภาไม่เห็นชอบด้วยก็จะใช้สิทธิยับยั้ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาใหม่ หากยืนยันความเห็นเดิมโดยมติที่มีเสียงเกินครึ่งของจำนวนสมาชิกก็ถือว่า พระราชบัญญัตินั้นผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา เพราะฉะนั้นร่างพระราชบัญญัติใดหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วย ก็ไม่สามารถที่จะเป็นกฎหมายขึ้นมาได้

   5.2. 2. ควบคุมฝ่ายบริหาร รัฐสภามีหน้าที่ควบคุมการบริหารของคณะรัฐมนตรีทำได้หลายวิธี คือ

 ก. การพิจารณานโยบายของรัฐบาล คณะรัฐมนตรีก่อนเข้ารับหน้าที่บริหารประเทศ จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า  จะดำเนินการบริหารประเทศอย่างไร ปกติรัฐสภาจะพิจารณาและลงมติว่า สมควรให้ความเห็นชอบไว้วางใจหรือไม่ หากไม่ให้ความไว้วางใจ รัฐบาลก็ต้องลาออก แต่ปัจจุบันนี้รัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐสภาเพียงแต่รับฟังและอภิปรายแสดงความคิดเห็นเท่านั้น ไม่มีการลงมติ

ข. การตั้งกระทู้ถาม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐบาล หรือรัฐมนตรีรายบุคคล เมื่อมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่  หรือเรื่องที่อยู่ในหน้าที่  แต่รัฐบาลหรือรัฐมนตรีมีสิทธิที่จะไม่ตอบ ถ้าเห็นว่าเรื่องที่ตั้งกระทู้นั้นเกี่ยวกับความปลอดภัย หรือประโยชน์สำคัญของแผ่นดินที่ยังไม่ควรเปิดเผยการตอบกระทู้ถามในแต่ละสภาอาจตอบในหนังสือราชกิจจานุเบกษาก็ได้ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความประสงค์ของผู้ถาม

ค. การยื่นญัติเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ  สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะในกรณีที่เห็นว่าดำเนินการบริหารเป็นผลเสียต่อส่วนรวม ปกติการอภิปรายและลงมตินั้นกระทำในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นมติไม่ไว้วางใจจะต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรจึงจะมีผลบังคับตามรัฐธรรมนูญ  การควบคุมฝ่ายบริหารโดยการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปนี้ถือว่าเป็นวิธีการควบคุมที่มีประสิทธิภาพที่สุด  และจุดประสงค์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้เปิดได้ไม่ยากนัก เพื่อให้ ส.ส. มีโอกาสตรวจสอบการบริหารงานของคณะรัฐมนตรี จะเห็นได้จากการกำหนดจำนวน ส.ส. ที่จะยื่นญัตติไว้เพียง 1 ใน 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดแม้ว่าในการเปิดอภิปรายแต่ละครั้ง เมื่อลงมติกันแล้ว คะแนนไม่ไว้วางใจมักจะไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวน ส.ส.เพราะการลงคะแนนจะเป็นไปตามระบบพรรค ฝ่ายรัฐบาลจะมี ส.ส. เกินครึ่งอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีผลที่จะทำให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งด้วยมติ แต่เนื้อหาถ้อยความในการอภิปรายนั้นจะได้รับการเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบทำให้ผู้ถูกอภิปรายอาจเสียคะแนนนิยมได้  ถ้าไม่มีเหตุผลเพียงพอในการตอบโต้ข้อบกพร่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอภิปราย  อย่างไรก็ตาม ส.ส. แต่ละคน จะมีสิทธิลงชื่อในการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายนี้เพียงสมัยประชุมละครั้งเดียว

     6. คณะรัฐมนตรี รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี เป็นผู้ใช้อำนาจบริหาร รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบในหน้าที่ของตนและต้องรับผิดชอบร่วมกันในนโยบายทั่วไปของคณะรัฐมนตรีต่อสภาผู้แทนราษฎร หมายความว่า สภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิที่จะควบคุมการบริหารของคณะรัฐมนตรี เพราะสภาผู้แทนราษฎรเป็นสถาบันตัวแทนแสดงเจตจำนงของประชาชน ถ้าเห็นว่า คณะรัฐมนตรีดำเนินการบริหารบกพร่องหรือไม่เป็นไป เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนก็อาจเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ซึ่งถ้าทำสำเร็จก็จะมีผลให้รัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปเมื่อรัฐธรรมนูญให้รัฐสภาควบคุมรัฐบาล ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลมีสิทธิควบคุมสภาผู้แทนราษฎรด้วย เป็นการถ่วงดุลแห่งอำนาจ ไม่ให้ฝ่ายใดมีอำนาจมากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งเกินไปเครื่องมือควบคุมสภาผู้แทนราษฎรคือ การยุบสภา นายกรัฐมนตรีมีสิทธิทูลเกล้าฯ เสนอเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาได้

การยุบสภา คือ การให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ้นจากตำแหน่งและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน60 วัน เพราะฉะนั้นใน กรณีที่มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็ต้องระมัดระวังบทบาทพอสมควรเช่นกันเพราะแทนที่รัฐบาลจะเลือกเอาการลาออกหรือยอมให้เปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐบาลอาจเลือกเอาการยุบสภามาใช้ก็ได้  โดยปกติตามหลักการประชาธิปไตย เมื่อมีข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ  เช่น รัฐบาลตราพระราชกำหนดออกมาบังคับใช้ แต่สภาสภาผู้แทนราษฎรไม่อนุมัติ เป็นต้นเมื่อเกิดข้อขัดแย้งขึ้น ปกติรัฐบาลจะลาออกเมื่อเห็นว่าในข้อขัดแย้งนั้นประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฎรจัดตั้งรัฐบาลใหม่ และรัฐบาลจะยุบสภาในกรณีที่เห็นว่าประชาชนสนับสนุนรัฐบาลมากกว่ารัฐสภา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎรที่สนับสนุนรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนรัฐบาลต่อไป  เรื่องยุบสภานี้เป็นการยุบสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับวุฒิสภาแต่อย่างใด

      6.1 องค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี รัฐบาลประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีร่วมคณะ อีกจำนวนไม่เกินที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้  ตามรัฐธรรมนูญ พ.. 2534 กำหนดไว้ให้มีรัฐมนตรีไม่เกิน 48 คน นอกเหนือจากนายกรัฐมนตรี ปกตินายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้ได้รับเสียงสนับสนุนส่วนใหญ่จากสภาผู้แทนราษฎร หรือสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้คัดเลือกนายกรัฐมนตรีนั่นเอง และนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้คัดเลือกรัฐมนตรีร่วมคณะซึ่งการคัดเลือกมักจะต้องคำนึงถึงเสียงสนับสนุนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นหลัก เพราะรัฐบาลต้องได้รับเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสนับสนุน การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภาจะเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ และในการแต่งตั้งรัฐมนตรี  นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

6.2 อำนาจและหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี  อำนาจและหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมีหลายประการ  ได้แก่ อำนาจในการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภา การตราพระราชกำหนด  การตราพระราชกฤษฎีกา เป็นต้น นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีได้รับการกำหนดให้เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการเกี่ยวกับบทกฎหมาย  พระราชหัตถเลขา พระบรมราชโองการใดๆ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน  นอกจากนี้ในฐานะเป็นรัฐบาล  คณะรัฐมนตรีต้องทำหน้าที่ประสานงาน  ระหว่างกระทรวง  ทบวง กรมต่างๆ วางระเบียบข้อบังคับให้กระทรวง  ทบวง กรม ถือปฏิบัติและพิจารณาลงมติเรื่องต่างๆ ที่กระทรวง  ทบวง กรมเสนอมาและยังมีอำนาจหน้าที่อีกหลายประการที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นๆ

       7. ตุลาการ  อำนาจตุลาการหรืออำนาจในการตัดสินคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย  อำนาจนี้เป็นของศาลยุติธรรมทั้งหลาย  เป็นอำนาจที่สำคัญที่สุดอำนาจหนึ่ง  เพราะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น ฝ่ายตุลาการจึงต้องมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีให้เป็นไปตามกฎหมาย สำหรับการปกครองไทย  หลักประกันสำหรับตุลาการที่จะมีอิสระในการวินิจฉัยคดีโดยปราศจากอิทธิพลจากฝ่ายอื่นที่บีบบังคับเปลี่ยนคำพิพากษา  คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการตุลาการ (..) ซึ่งประกอบด้วยบุคคลในวงการตุลาการทั้งสิ้น  ทั้งจากการเลือกตั้งโดยตุลาการด้วยกัน  และโดยตำแหน่ง มีประธานศาลฎีกาเป็นประธานคณะกรรมการตุลาการโดยตำแหน่งคณะกรรมการตุลาการเป็นองค์กรอิสระในการดำเนินการให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ย้าย ถอดถอนเลื่อนตำแหน่งและเลื่อนเงินเดือนผู้พิพากษา  หมายความว่า การให้คุณให้โทษกับผู้พิพากษานั้นขึ้นอยู่กับคณะกรรมการตุลาการฝ่ายบริหารหรือรัฐมนตรีจะดำเนินการตามใจชอบไม่ได้การกำหนดเช่นนี้ทำให้ฝ่ายบริหารไม่สามารถใช้อิทธิพลแทรกแซงการตัดสินคดีของผู้พิพากษาได้และทำให้อำนาจตุลาการเป็นอำนาจอิสระสามารถที่จะถ่วงดุลกับอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารได้ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย

     8. ตุลาการรัฐธรรมนูญ ความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ  ในการปกครองของไทยจะเห็นได้จากการจัดตั้งให้มี  คณะตุลาการรัฐธรรมนูญ  เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบพิจารณาว่า การกระทำหรือกฎหมาย ที่ยกร่างขึ้นนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้าขัดหรือแย้งก็กระทำไม่ได้หรือเป็นโมฆะ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติสูงสุด  คณะตุลาการรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ พ.. 2534 ประกอบด้วยประธานรัฐสภาเป็นประธาน  ประธานวุฒิสภา  ประธานศาลฎีกา  อัยการสูงสุด  เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง  มีผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ หรือ รัฐศาสตร์อีก 6 คน ที่วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งมาสภาละ 3 คน (ซึ่งจะต้องไม่ได้เป็นสมาชิกสภาทั้งระดับรัฐและท้องถิ่น  ข้าราชการประจำพนักงานรัฐวิสาหกิจ และพนักงานท้องถิ่น) ร่วมเป็นกรรมการด้วย  ผู้มีสิทธิร้องขอให้คณะกรรมการตุลาการรัฐธรรมนูญพิจารณาการกระทำใดๆ หรือร่างพระราชบัญญัติ และกฎหมายที่ใช้บังคับคดีว่าขัดแย้งต่อบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่  คือ นายกรัฐมนตรี  สมาชิกสภา (ตามจำนวนและเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด) และศาล

9. การปกครองท้องถิ่น การปกครองของไทยให้ความสำคัญต่อการปกครองท้องถิ่น  และใช้หลักการกระจายอำนาจ จะเห็นได้จากการที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาว่า รัฐพึงส่งเสริมท้องถิ่นให้มีสิทธิปกครองตนเองได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ  ปัจจุบันมีการจัดหน่วยการ   ปกครองท้องถิ่นหลายแบบและหลายระดับ คือ กรุงเทพมหานคร  เมืองพัทยา  องค์การบริหารส่วนจังหวัด  เทศบาล  สุขาภิบาล เป็นต้น แต่ละแบบก็ให้สิทธิประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดำเนินการตามลักษณะการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น  สามารถดำเนินการของตนเองได้  อย่างไรก็ตามในพฤติกรรมความเป็นจริงรัฐบาลในส่วนกลาง หรือฝ่ายบริหารก็มีส่วนร่วมในการบริหารและควบคุมการปกครองท้องถิ่นอยู่มาก  โดยเฉพาะในบางรูป  เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด  สุขาภิบาล  และสภาตำบล  และบางรูป คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา  ในบางสมัยก็ใช้วิธีการแต่งตั้งแทนการเลือกตั้ง  เป็นต้น

 10. พรรคการเมือง โดยปกติในการปกครองแบบประชาธิปไตย  จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเพราะพรรคการเมืองเป็นที่สร้างพลังให้กับอุดมการณ์ เป็นที่ที่อาจค้นหาเสียงส่วนใหญ่ของมหาชน  และเป็นสถาบันที่ทำให้คนต่างท้องถิ่นสามารถร่วมมือกันทางการเมืองได้ในไทยพรรคการเมืองก็มีบทบาทสำคัญไม่น้อย โดยเฉพาะแต่ละครั้งที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งจะมีการรวมกลุ่มจัดตั้งพรรคการเมืองเสมอ แม้ในบางสมัยจะไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองก็ตามแต่รัฐธรรมนูญก็เปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองได้  จึงมีการรวมกลุ่มกันเป็นพรรคการเมือง  แม้จะไม่ได้รับการรับรองจากกฎหมายเป็นทางการก็ตาม  อย่างไรก็ตามพรรคการเมืองของไทยมีบทบาทในวงแคบ คือมีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่ เป็นนักการเมือง ประชาชนโดยทั่วไปมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองไม่มากนัก

      11. การเลือกตั้ง เป็นวิธีการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตนเพราะเป็นกระบวนการคัดเลือกผู้ทำหน้าที่เป็นผู้แทนประชาชนประเทศไทยเริ่มมีการเลือกตั้งสมาชิกสภา ผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2476 แต่การเลือกตั้งไม่ได้มีประจำสม่ำเสมอมีว่างเว้นในระยะที่ใช้รัฐธรรมนูญปกครองชั่วคราวภายหลังการปฏิวัติ  อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งเท่าที่เคยมีมาก็มีลักษณะแบบประชาธิปไตย  ให้ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพและความสะดวก ตลอดจนหลักประกันในการใช้สิทธิใช้เสียง

ระบบการเลือกตั้งเป็นแบบโดยตรง  คือ ประชาชนเลือก ส.. โดยมีครั้งแรกเพียงครั้งเดียวที่เป็นการเลือกตั้งโดยอ้อม คือ ประชาชนเลือกผู้แทนตำบล และผู้แทนตำบลไปเลือก ส.. อีกทีหนึ่ง การเลือกตั้งที่มีมาเคยใช้ทั้งรวมเขตและแบ่งเขต  ระยะหลังมีแนวโน้มที่ใช้ระบบผสมคือ จังหวัดไหนมี ส.. จำนวนมากก็ใช้วิธีแบ่งเขตโดยมีการกำหนดจำนวนสูงสุดที่เขตหนึ่งจะพึงมีเอาไว้  เกินจากนั้นต้องใช้วิธีแบ่งเขต ส่วนพฤติกรรมการลงคะแนนเสียงนั้นเมื่อก่อนมีผู้ไปลงคะแนนมักจะไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิ แต่ในระยะหลัง  มีแนวโน้มดีขึ้น คือ มีผู้ใช้สิทธิกว่าครึ่งประมาณร้อยละ 60 อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งก็ยังมีจุดอ่อน  กล่าวคือ มีการซื้อเสียงและใช้เงินในการหาเสียงเกินกว่าที่กฎหมายเลือกตั้งกำหนดไว้ ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้ไม่ได้  ผู้ที่เป็นตัวแทนประชาชนที่แท้จริงและแนวทางประชาธิปไตยกลายเป็นประโยชน์สำหรับนายทุนและนักธุรกิจแทนที่จะเป็นประชาชน

2. การเมืองระบอบประชาธิปไตยในปัจจุบัน

      ประชาชนไทยมีเสรีภาพทางการเมืองพอสมควร  สามารถที่จะแสดงออกทางการเมืองได้  ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันจัดตั้งพรรคการเมืองแม้จะยังไม่มีกฎหมายพรรคการเมืองมารองรับ  เช่น ในกาเลือกตั้งหลายครั้งแม้ไม่มีกฎหมายพรรคการเมือง  แต่ในพฤติกรรมความเป็นจริงนั้นก็มีการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นพลายพรรคโดยอาศัยเสรีภาพที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายแม่บทการรวมกลุ่มเป็นสมาคมสหภาพ ก็สามารถทำได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

การเคลื่อนไหวทางการเมือง  เช่น การเดินขบวน หรือการชุมนุมกันเพื่อยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาล  ก็มีปรากฏและไม่ได้รับการขัดขวางในการแสดงออก  ตราบเท่าที่ไม่มีการละเมิดกฎหมาย  เสรีภาพในการพูด การพิมพ์และโฆษณา  ซึ่งเป็นไปอย่างกว้างขวาง  จนน่าจะเป็นที่ยอมรับว่าประเทศไทยนั้น ให้เสรีภาพทางการเมืองแก่ประชาชน  ตามหลักประชาธิปไตยถึงแม้ว่าจะมีการประกาศให้กฎอัยการศึกและมีประกาศหรือคำสั่งและกฎหมายบางฉบับจำกัดเสรีภาพในทางการเมืองบ้างแต่ในทางปฏิบัติก็มีการผ่อนผันและไม่เคร่งครัดในการบังคับใช้จนกระทั่งเป็นอุปสรรคต่อการแสดงออกทางการเมือง

 ถ้าพิจารณาจากรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2534 และรัฐธรรมนูญบางฉบับที่ใช้มาก่อนหน้านั้น จะเห็นได้ว่าเป้าหมายของการพัฒนาทางการเมืองของไทยต้องการสร้างระบอบประชาธิปไตย  อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขโดยมีระบบพรรคการเมือง  ซึ่งจะเห็นได้จากการที่บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมาก เป็นต้นว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องสังกัดพรรคการเมืองรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังกำหนดว่า เมื่อได้รับเลือกตั้งแล้วจะพ้นจากการเป็น ส.ส.ทันทีที่ลาออกหรือถูกขับไล่ออกจากพรรค  จึงทำให้พรรคการเมืองมีบทบาทสำคัญในการดำเนินการในสภานอกจากนี้พะราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524 ยังพยายามวางแนวทางให้พรรคการเมืองมีลักษณะเป็นพรรคที่มีฐานสนับสนุนจากมวลชนอย่างกว้างขวาง  กล่าวคือต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องอยู่ในทุกภาค  ภาคละไม่น้อยกว่า 5 จังหวัด จังหวัดหนึ่งต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน

106152844

การเมืองระดับท้องถิ่น  อันได้แก่ เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งเป็นระดับ และรูปแบบที่สำคัญนั้นก็ได้มีการเปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้ง สมาชิกสภาเทศบาล  และสมาชิกสภาจังหวัด เมื่อต้นปี พ.. 2523 เป็นต้นมา  หลังจากที่ได้งดเว้นมานาน  ปัจจุบันนี้ก็ได้ให้มีการดำเนินการ  การปกครองระดับท้องถิ่นในแบบประชาธิปไตย ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเมืองระดับท้องถิ่น  อย่างไรก็ตามการเมืองระดับท้องถิ่นนี้ก็ยังไม่สู้ได้รับการสนใจจากประชาชนอย่างกว้างขวางนักจะเห็นได้จากการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนระดับท้องถิ่นยังอยู่ในอัตราที่ต่ำมาก

รูปแบบลักษณะของหน่วยการปกครองท้องถิ่นก็ยังค่อนข้างเป็นไปแบบเดิม คือ ไม่สู้อิสระในการดำเนินการมากนัก ทางการยังเข้าไปมีส่วนร่วมในการควบคุมและดำเนินการอยู่และยังได้รับความสนใจอยู่ในวงจำกัดเท่านั้น อย่างไรก็ตามการที่จะเห็นรูปการเมืองการปกครองไทยพัฒนาไปสู่รูปแบบความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ หากประชาชนมีความตื่นตัวและมีความสำนึกทางการเมืองสามารถใช้วิจารณญาณทางการเมืองได้ถูกต้อง สนใจที่จะใช้สิทธิทางการเมืองลงคะแนนเสียงเลือกตั้งและเลือกผู้แทนราษฎรที่ดีเข้าสู่สภา บทบาทและพฤติกรรมทางการเมืองของนักการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ ก็จะต้องพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ และสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้  ทำให้ความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแพร่หลายขึ้นและเมื่อใดประชาชนส่วนใหญ่ มีความรู้ความเข้าใจและศรัทธาในระบอบประชาธิปไตยแล้วก็เป็นที่แน่นอนว่าระบอบประชาธิปไตยจะต้องมีเสถียรภาพมั่นคงอยู่คู่กับการปกครองไทยตลอดไป

ปัจจุบันนี้จากการพิจารณาบรรยากาศการเมืองไทย  อาจกล่าวได้ว่า  มีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก  ประชาชนมีความตื่นตัวและมีจิตสำนึกทางการเมืองมากขึ้น  จะเห็นได้จากสถิติผู้ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระยะหลังมีจำนวนเกินครึ่งทุกครั้ง  (การเลือกตั้งเมื่อ 18เมษายน พ.. 2526 มีผู้ไปลงคะแนนจำนวนร้อยละ 50.76 การเลือกตั้งเมื่อ 27 กรกฎาคม พ.. 2529ร้อยละ 61.43 การเลือกตั้งเมื่อ 24 กรกฎาคม พ.. 2531 ร้อยละ 63.56  และการเลือกตั้งเมื่อ13กันยายน พ.. 2535 ร้อยละ 61.59) มีการเผยแพร่ข่าวสารการเมืองอย่างกว้างขวางโดยสื่อมวลชนทุกประเภททั้งหนังสือพิมพ์  วิทยุ และโทรทัศน์ทำให้ประชาชนสนใจและเข้าใจการเมืองมากขึ้น  แม้ว่าจะยังมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอยู่บ้าง  เช่น การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องเงินที่เข้ามามีบทบาทสูงในการเลือกตั้ง  หรือการที่นักการเมืองบางคน  มีบทบาทเป็นนักธุรกิจการเมืองแต่ในการเมืองระบบเปิด  และในยุคที่ข่าวสารที่แพร่หลายได้กว้างขวางเช่นทุกวันนี้  ก็คงพอที่จะให้ความเชื่อมั่นได้ว่า  ประชาชนจะมีส่วนช่วยควบคุมให้การเมืองพัฒนาไปในทางสร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้กับประชาชนโดยส่วนรวมมากขึ้น  เพราะการกระทำที่ไม้ชอบมาพากลของนักการเมืองจะถูกเปิดเผยให้ทราบต่อสาธารณะทำให้ผู้ที่เป็นนักการเมืองต้องระมัดระวัง พฤติกรรมของตนตามสมควร อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันว่าในระบอบประชาธิปไตย

นอกจากกลุ่มนักการเมืองที่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมืองในระดับชาติ  หรือกลุ่มการเมืองในระดับท้องถิ่นที่รวมตัวกันเพื่อเข้าสมัครรับเลือกตั้งในระดับต่างๆ แล้วยังต้องการให้มีการรวมกลุ่มของประชาชนในลักษณะกลุ่มผลประโยชน์  เช่น กลุ่มอาชีพ  กลุ่มอุดมการณ์  กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ที่ไม่ต้องการเข้ามามีตำแหน่งทางการเมือง  แต่ทำหน้าที่แสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาหรือประเด็นการเมืองที่เกิดขึ้น  แสงดความต้องการให้ผู้ปกครองรับทราบ ทำให้ผู้ปกครองได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารที่ถูกต้องของกลุ่มเพื่อประกอบการตัดสินใจ  ซึ่งปัจจุบันนี้ในการเมืองไทยก็มีกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งที่จัดตั้งเป็นทางการ  เช่น สหภาพ  สมาคม หรือจัดตั้งอย่างไม่เป็นทางการ  เช่น  กลุ่ม  ชมรมต่างๆ รวมทั้งการรวมกลุ่มเฉพาะกิจ  หรือเฉพาะกาลเป็นครั้งคราว เข้ามามีบทบาทในทางการเาองเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายตามที่กลุ่มชนต้องการ   เช่น การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นักศึกษา  กรรมกร  ชาวไร่  ชาวนา                                                                                              

อ้างอิง   https://sites.google.com/site/groupsocial55/home/1-rabb-karmeuxng-kar-pkkhrxng-ni-paccuban  

วีดิโอ     [embed]http://https://www.youtube.com/watch?v=VeuLs2stbcU[/embed]     

อ้างอิงวีดิโอ     https://www.youtube.com/watch?v=VeuLs2stbcU

คำถาม

  1. รัฐธรรมนูญและการปกครองราชอาณาจักรไทยฉบับใด ที่ได้ชื่อว่าเป็นฉบับแรกของรัฐธรรมนูญแบบเผด็จการ

    ตอบ ฉบับที่ 4

  1. สนธิสัญญาเบาว์ริง เกี่ยวข้องกับการปกครองไทยสมัยใด

 ตอบ   พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ใส่ความเห็น